หากเปิดอันดับโลกนักสนุกเกอร์ ณ ปัจจุบันดู คุณจะพบว่าใน 32 อันดับแรก มีนักสนุกเกอร์สัญชาติอังกฤษมากถึง 16 คน หรือครึ่งหนึ่งเลยทีเดียว
นั่นไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจนัก เพราะแฟนกีฬาน่าจะทราบกันดีว่ากีฬาชนิดนี้กำเนิดขึ้นโดยแนวคิดของทหารชาวอังกฤษ (ที่ไปประจำการในอินเดีย สมัยยังเป็นเมืองขึ้น) แต่ชาติที่มีนักสอยคิวพาเหรดติดแรงกิ้งมากเป็นอันดับ 2 นี่สิที่อาจทำให้คุณแปลกใจ เพราะชาตินั้นคือ … จีน
เหตุใดกีฬาสนุกเกอร์ถึงเติบโตและเบ่งบานในแดนมังกร ?
เป้าหมายแรกไม่ใช่ที่นี่
ก่อนอื่นเลยหากเราจะบอกกับคุณ ๆ ว่า อันที่จริง จีน ไม่ใช่เป้าหมายแรกในการปักธงสร้างกระแสนิยมของกีฬาสนุกเกอร์ในทวีปเอเชีย!
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการสร้างความนิยมของสิ่งใดสิ่งหนึ่งในดินแดนใหม่ ย่อมต้องหาใครสักคนมาเป็นต้นแบบในการสร้างแรงบันดาลใจ และในประเทศหนึ่งที่ไม่ไกลจากจีนก็มีคน ๆ นั้น เขาเป็นนักสนุกเกอร์จากทวีปเอเชียที่กำลังสั่นสะเทือนวงการสนุกเกอร์อย่างรุนแรง
ใช่แล้ว … เราหมายถึง เจมส์ วัฒนา หรือที่มีชื่อจริงว่า วัฒนา ภู่โอบอ้อม ที่คนไทยคุ้นหูในชื่อ ต๋อง ศิษย์ฉ่อย นั่นเอง
ย้อนกลับไปในยุค 90s แฟนกีฬาชาวไทยน่าจะจำกันได้ดีว่า ต๋อง ศิษย์ฉ่อย คือนักสนุกเกอร์จากทวีปเอเชียที่สร้างปรากฏการณ์ในเวทีระดับโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเป็นนักสอยคิวชาวเอเชียคนแรกที่เข้าถึงรอบรองชนะเลิศสนุกเกอร์ชิงแชมป์โลก รายการใหญ่ที่สุดของวงการสักหลาดในปี 1993 และ 1997
ด้วยเหตุดังกล่าว WPBSA หรือ สมาคมบิลเลียดและสนุกเกอร์อาชีพโลก จึงตัดสินใจที่จะบุกตลาดเอเชียอย่างจริงจัง ด้วยการสร้างอคาเดมีที่กรุงเทพมหานคร เมื่อปี 2001
อคาเดมีดังกล่าวไม่ได้มีเฉพาะนักกีฬาชาวไทยเท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายคนจากประเทศต่าง ๆ ทั่วเอเชียรวมอยู่ด้วย และหนึ่งในนั้น คือคนที่ในเวลาต่อมาจะสร้างปรากฏการณ์บนเวทีระดับโลกไม่ต่างจาก ต๋อง ศิษย์ฉ่อย
เขาคนนั้นคือ ติ้ง จุ่นฮุย
ผลงานสร้างปรากฏการณ์
นักกีฬาดังหลายคนเริ่มต้นเล่นกีฬาที่สร้างชื่อเสียงให้เขามาตั้งแต่ยังเด็ก ซึ่งในกรณีของ ติ้ง จุ่นฮุย ก็เช่นกัน เพียงแต่มันอาจจะแตกต่างจากนักกีฬาชนิดอื่นอยู่บ้าง เพราะเขาเริ่มต้นด้วยการติดสอยห้อยตามคุณพ่อซึ่งชอบกีฬาพูลออกไปสอยคิวที่โต๊ะในละแวกบ้าน
ในจังหวะที่คุณพ่อไปเข้าห้องน้ำนี้เองที่เป็นโอกาสทองที่ ติ้ง มักจะหยิบไม้คิวของพ่อไปเล่นกับคนที่มาเล่นในโต๊ะเดียวกันอยู่เสมอ และเขามักจะปิดเกมได้รับชัยชนะได้ก่อนที่คุณพ่อของเขาจะกลับมาเล่นต่อเป็นประจำ
หลังจากนั้นเจ้าตัวก็เติบโตอย่างก้าวกระโดด เพราะจากวันที่จับคิวครั้งแรกในวัย 8 ขวบ ติ้ง เข้าสู่ศูนย์ฝึกสนุกเกอร์แห่งชาติจีนตอนอายุเพียง 9 ขวบ รวมถึงสละชีวิตวัยเรียนออกจากระบบการศึกษาตอนอายุเพียง 11 ขวบเพื่อเอาจริงกับการเป็นนักสอยคิว ก่อนที่การเข้าอคาเดมีของ WPBSA จะทำให้เขาเริ่มสุกงอม จนสามารถคว้าแชมป์สมัครเล่นของทวีปเอเชีย รวมถึงแชมป์เอเชีย และแชมป์โลกในระดับเยาวชน รุ่นอายุไม่เกิน 21 ปี ในปี 2002 ด้วยวัยเพียง 15 ปีเท่านั้น
ปี 2003 ติ้ง ได้รับทัวร์การ์ดเพื่อลงเล่นในระดับอาชีพ ซึ่งเพียง 2 ปีหลังจากนั้น เจ้าตัวก็สามารถคว้าแชมป์ในรายการเก็บคะแนนสะสมจัดอันดับโลกได้สำเร็จ ที่สำคัญคือนี่เป็นการคว้าแชมป์ได้ในบ้านเกิดเสียด้วย กับรายการ ไชน่า โอเพ่น
ไม่ต้องสงสัยเลยว่าแชมป์รายการดังกล่าวจะสร้างกระแสฟีเวอร์ในแดนมังกรขนาดไหน เพราะในการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ ที่ ติ้ง ซึ่งเป็นมือไวลด์การ์ดเอาชนะ สตีเฟ่น เฮนดรี้ แชมป์โลก 7 สมัย และมีผู้ชมการถ่ายทอดสดผ่านช่อง มากถึง 110 ล้านคน
และวงการสอยคิวแดนมังกรก็เปลี่ยนไปตลอดกาล
แรงกระเพื่อมมหาศาล
“ผมคิดว่าวงการสนุกเกอร์ต้องขอบคุณ ติ้ง จุ่นฮุย กับสิ่งที่เขานำมาสู่วงการสนุกเกอร์เลยครับ เขาเป็นคนเปิดตลาดใหญ่ให้กับเรา สำหรับประเทศจีนแล้วเขาคือวีรบุรุษของชาติอย่างไม่ต้องสงสัย และผมกล้าพูดเลยว่ามีผู้คนจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ที่ต้องการเดินตามรอยของเขา”
นี่คือสิ่งที่ เจสัน เฟอร์กูสัน ประธาน WPBSA กล่าวถึงคุณูปการที่ ติ้ง จุ่นฮุย ทำไว้กับวงการสอยคิว ซึ่งไม่น้อยหน้ากับกรณีของ เหยา หมิง เลย
เพราะในขณะที่ เหยา หมิง ทำให้บาสเกตบอลกลายเป็นกีฬายอดนิยมอันดับ 1 ของประเทศจีนในแง่ผู้ชม ติ้ง จุ่นฮุย ก็ทำให้สนุกเกอร์กลายเป็นกีฬายอดนิยมอันดับ 3 ของประเทศในแง่ผู้ชมเช่นกัน โดยเป็นรองเพียงบาสเกตบอลและฟุตบอลเท่านั้น โดย เจสัน เฟอร์กูสัน เผยว่า ศึกชิงแชมป์โลกรายการใหญ่ปิดท้ายฤดูกาล มีผู้ชมชาวจีนติดตามชมการถ่ายทอดสดมากกว่า 300 ล้านคน หรือเกือบ 1 ใน 4 ของประชากรทั้งประเทศซึ่ง ณ ปี 2021 มีจำนวนอยู่ที่ราว 1,400 ล้านคนเลยทีเดียว
ไมล์ส เพียร์ซ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดของ องค์กรจัดการแข่งขันสนุกเกอร์อาชีพเผยว่า นอกจากตัวเลขผู้ชมกีฬาสอยคิวในประเทศจีนจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทุกปีแล้ว ฐานผู้ชมส่วนใหญ่ยังเป็นกลุ่มมนุษย์เงินเดือนวัย 16-34 ปี และอาศัยอยู่ตามเมืองใหญ่ของประเทศ ซึ่งส่งผลดีต่อวงการสนุกเกอร์ในภาพรวมอีกด้วย
เพราะในขณะที่ประเทศไทยซึ่งเป็นเป้าหมายแรกที่ WPBSA หวังจะปักหมุดการเติบโตกลับไม่สามารถนำพาสนุกเกอร์ก้าวข้ามภาพจำเรื่องการพนันได้ กีฬาสอยคิวในแดนมังกรกลับเบ่งบาน ตัวเลขประมาณการเมื่อปี 2015 ระบุว่า ชาวจีนมากกว่า 60 ล้านคนเล่นกีฬาสนุกเกอร์เป็นประจำ
ไม่เพียงเท่านั้นผลงานของ ติ้ง จุ่นฮุย ที่คงเส้นคงวา ทำให้เขาเก็บสะสมเงินรางวัลได้มากขึ้นเรื่อย ๆ จนหลายคนมองเห็นโอกาสที่จะเปลี่ยนชีวิตด้วยกีฬานี้
“สำหรับประเทศจีน สนุกเกอร์เป็นกีฬาเชิงพาณิชย์และสังคม ผู้คนมากมายดูและเล่นกีฬานี้ เด็ก ๆ มอง ติ้ง เป็นฮีโร่ และอยากเป็นแบบเขา นั่นคือเหตุผลที่คุณได้เห็นเด็ก ๆ จำนวนมากในประเทศจีนเล่นสนุกเกอร์ พวกเขาต้องการเป็นนักสนุกเกอร์อาชีพ” วิคตอเรีย ชื่อ เจ้าของ ในเมืองเชฟฟิลด์ ประเทศอังกฤษ และเป็นผู้จัดการส่วนตัวของนักสนุกเกอร์สัญชาติจีนหลายคน ซึ่งในอดีต ติ้ง จุ่นฮุย คือหนึ่งในนั้นเผย
“โจว เย่หลง และ หยาน ปิ่งเถา นักสนุกเกอร์ในการดูแลของเราก็เติบโตมากับการดูติ้งเล่น จนตอนนี้พวกเขาลงแข่งในเวทีเดียวกันแล้ว และขอบอกเลยว่านี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้น คุณจะได้เห็นนักกีฬาสายเลือดใหม่จากจีนแจ้งเกิดในวงการนี้อีกเยอะในอนาคตอันใกล้”
ความสำเร็จที่ยังไม่เสร็จสิ้น
ปัจจุบัน นักสนุกเกอร์ชาวจีน กำลังแจ้งเกิดอย่างมากมายอย่างที่ วิคตอเรีย ชื่อ ว่าไว้จริง ๆ
เพราะอย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้น จากอันดับโลกล่าสุดเมื่อสิ้นเดือนธันวาคม 2021 มีนักสนุกเกอร์ชาวจีนอยู่ใน 32 อันดับแรกของโลกมากถึง 6 คน ประกอบไปด้วย จ้าว ซินตง , หยาน ปิ่งเถา, โจว เย่หลง, ติ้ง จุ่นฮุย, เซี่ยว กั่วตง และ หลู่ หนิงไม่เพียงเท่านั้นนักสอยคิวจากแดนมังกรยังคืบคลานเข้ามาติดอันดับโลกมากขึ้นเรื่อย ๆ จะเป็นรองก็เพียง อังกฤษ ชาติเดียวเท่านั้น
ขณะเดียวกัน เงินหยวน ก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้วงการสนุกเกอร์ทั่วโลกเติบโตขึ้นอีกด้วย
“ถ้าพูดถึง WST ในตอนนี้ 25-30% ของเงินรางวัล คือเงินจากสปอนเซอร์สัญชาติจีน เรามีการแข่งขันในประเทศจีนหลายรายการ หนึ่งในนั้นคือ สนุกเกอร์ เวิลด์คัพ (สนุกเกอร์ประเภททีมชิงแชมป์โลก) ที่เมืองอู๋ซี ซึ่งชิงเงินรางวัลสูงถึง 860,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 29 ล้านบาท)” เจสัน เฟอร์กูสัน เผย
อย่างไรก็ตามวงการสนุกเกอร์ของจีนก็ยังไม่ก้าวถึงจุดสูงสุดแต่อย่างใด เพราะยังมีอีกหลายเป้าหมายให้พิชิต เพราะตลอดหลายปีหลัง จีน พยายามทุ่มเงินจำนวนมหาศาลเพื่อหวังให้ WST นำการแข่งขันสนุกเกอร์ชิงแชมป์โลกมาจัดในแดนมังกร ทว่าแม้จะใช้เงินจูงใจขนาดไหน แต่ก็ยังไม่อาจนำศึกใหญ่ที่สุดของปีออกจากอ้อมอกของ ครูซิเบิล เธียเตอร์ เมืองเชฟฟิลด์ ประเทศอังกฤษ ได้เสียที
ไม่เพียงเท่านั้น แม้นักสนุกเกอร์ชาวจีนจะประกาศศักดาคว้าแชมป์ในรายการเก็บคะแนนสะสมจัดอันดับโลกต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง แต่จนถึงตอนนี้ยังไม่มีใครสามารถคว้าตำแหน่งแชมป์โลกมาได้เลยแม้แต่คนเดียว แม้แต่ตำนานอย่าง ติ้ง จุ่นฮุย ยังทำได้ดีที่สุดเพียงตำแหน่งรองแชมป์โลกเมื่อปี 2016 เท่านั้น
อย่างไรก็ตามกีฬาสนุกเกอร์ได้ลงหลักปักฐานอย่างมั่นคงในประเทศจีนแล้ว แถมยังสามารถยืนหยัดได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องพึ่งภาครัฐอีกด้วย (แม้ทาง จะยอมรับเองว่าหากรัฐบาลจีนให้การสนับสนุน วงการสนุกเกอร์จะเติบโตยิ่งกว่าที่เป็น) จนทุกวันนี้ โต๊ะสนุกเกอร์ แทบจะพบเห็นได้แทบทุกชุมชนเลยทีเดียว
แม้โอกาสในการเป็นเจ้าภาพชิงแชมป์โลกนั้นยังห่างไกล แต่กับการมีแชมป์สนุกเกอร์โลกชาวจีนก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้
“เอาจริงนะ ผมจะแปลกใจด้วยซ้ำถ้าไม่มีแชมป์โลกสนุกเกอร์ชาวจีนเกิดขึ้นภายใน 10 ปีข้างหน้า” ไมล์ส เพียร์ซ กล่าวทิ้งท้าย